ประสบการณ์การใช้เพนดูลั่มของ Diane Stein

บทที่ 6 การตั้งคำถาม (หน้า 3)

 

เมื่อคุณได้รับคำตอบจากเพนดูลั่ม ขอให้ยอมรับกับคำตอบที่ได้
ไม่ว่าจะเป็นคำตอบที่คุณต้องการหรือไม่
และ จงอย่าถามคำถามเดิมซ้ำไปซ้ำมาโดยหวังที่จะได้รับคำตอบที่แตกต่างออกไป

คุณสามารถถามคำถามอื่นเพื่อให้ได้รับคำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ตัวคำตอบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมภายใต้เงื่อนไขหรือสถานการณ์ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่เกิดขึ้นในทันทีทันใด

ถ้าคุณไม่แน่ใจในคำตอบที่ได้ คุณสามารถถามว่า

“คำตอบนี้เป็นความจริงหรือไม่ ?"

ถ้าใช่ คำตอบนั้นก็เป็นความจริงในช่วงเวลาที่ถามนั่น

คุณอาจจะถามซ้ำในวันพรุ่งนี้ หรือ ในอีกสองสามชั่วโมงต่อมาถ้าคุณคิดว่ามันจำเป็น

แต่จงจำไว้ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ถ้าคุณยังสงสัย ก็อาจถามต่อว่า

“ฉันต้องปรับประโยคใหม่เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นไหม ?”

หรือ

“การสื่อสารกันครั้งนี้ชัดเจนพอแล้วใช่ไหม ?” และ “ฉันต้องถามเพิ่มเติมอีกไหม ?”

บางครั้งคุณต้องได้รับคำตอบเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจในคำตอบแรกอย่างไม่ผิดพลาด ในกรณีเช่นนี้จงถามเพิ่ม


อย่างไรเสีย ถ้าหากว่าคำถามของคุณชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่กำกวม รวมทั้งคุณมีจิตใจที่แน่วแน่ขณะตั้งคำถามคุณก็ควรจะยอมรับในคำตอบที่ได้รับ เทพของคุณจะไม่หลอกลวงคุณ

บางครั้งสถานการณ์เปลี่ยน คำตอบก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ถ้ายังจำตัวอย่างที่ Diane เคยยกมาในช่วงต้นของหนังสือ เรื่องการมาถึงของช่าง

ครั้งแรกที่ถาม เพนดูลั่มของ Diane ตอบว่าช่างจะมาถึงก่อนบ่ายสามโมง เมื่อเลยบ่ายสามไปแล้ว ช่างก็ยังไม่มา Diane จึงถามซ้ำอีกครั้งว่า ช่างจะมาถึงวันนี้ไหม และ คำตอบก็คือ “ไม่”

สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปคือ ช่างโดนตามตัวให้ไปงานอื่นระหว่างทางที่จะมาบ้านของ Diane และ เขาก็ไปที่นั่นแทน

อย่างไรก็ตามช่างก็มาถึงก่อนบ่ายสามจนได้ แต่เป็นบ่ายสามของวันรุ่งขึ้น

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นสองประเด็น

หนึ่งนั้นคือ คำตอบที่คุณได้รับอาจจะแม่นยำในตอนที่คุณถาม แต่ สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้หลังจากนั้น

สอง คือ เมื่อคุณถามเกี่ยวกับเวลา คุณจะต้องระบุให้ชัดเจน ดังเช่นคำถามแรกของ Dianeเธอระบุเวลาแต่ไม่ได้ระบุวัน

แม้การถามเรื่องเวลาจะมีข้อควรระวังดังกล่าว แต่มิใช่ว่าเราจะถามให้ได้คำตอบที่แม่นยำไม่ได้ เช่นเดียวกับการถามเอาคำตอบที่เป็น ปริมาณ หรือ จำนวนในแง่อื่น ๆ จากเพนดูลั่ม ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้


Diane เคยกล่าวไว้ว่า เวลาเป็นสิ่งที่ชาวทิพย์ดูจะมีปัญหาอยู่บ้างเนื่องจาก เวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมาใช้ในโลก

ดังนั้นเมื่อต้องการถามคำถามที่มีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ระบุวันอย่างชัดเจน เช่นระบุว่าเป็นวันนี้ หรือวันไหนที่คุณต้องการจะกล่าวถึง

“ฉันจะจบหนังสือเล่มนี้ในวันนี้ไหม ?”

“ฉันจะจบมันในวันอังคารไหม ?” “เป็นวันอังคารที่จะถึงนี้ใช่ไหม ?” “เป็นอังคารถัดไปจากอังคารนี้ใช่ไหม ?” 

ถ้าคุณมีปฏิทิน คุณอาจจะชี้ไปที่ “วันนี้” แล้วบอกชาวทิพย์ของคุณว่านี่คือ “วันนี้” แล้วเปลี่ยนไปชี้ที่วันอังคารถัดไป และ ถามว่า “ฉันจะจบหนังสือเล่มนี้ในวันนั้นใช่ไหม ? ”

จากนั้นถ้าคำตอบที่ได้คือ “ใช่” คุณอาจจะถามถึงเวลาต่อเช่น “ฉันจะจบมันในช่วงเช้าไหม ?” “ฉันจะจบมันก่อนเวลาอาหารเย็นไหม ?” หรือ “ฉันจะจบมันหลังเที่ยงคืนไหม ?” 

แต่ก็จงจำไว้ด้วยว่าสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ คุณอาจจะถูกขัดจังหวะด้วยเหตุผลบางประการ หรือ อาจจะต้องเลื่อนวันที่ตั้งใจจะทำงานออกไป ทำให้ระยะเวลารวมยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ให้สังเกตการใช้คำว่า “ก่อน” และ “หลัง” ด้วย เช่น ถ้าคุณถามว่า “ฉันจะจบมันได้ตอน 2 นาฬิกาใช่ไหม ?”

สมมติว่า เวลาจริง ๆ ที่คุณจะจบมันได้คือ 2 นาฬิกา 15 นาที คำตอบที่คุณจะได้จากเพนดูลั่มก็คือ “ไม่ใช่”

และ ถ้าคุณถามว่า “ฉันจะจบมันได้ก่อน 2 นาฬิกาไหม ?” และ คำตอบที่ได้ก็คือ “ไม่ใช่” ให้ถามต่อว่า “ฉันจะจบมันได้ก่อน 3 นาฬิกาไหม ? ” ซึ่งคำตอบก็คือ “ใช่”

หากคุณต้องการรู้เวลาที่แน่ชัดก็ให้ตั้งคำถามเพื่อถามเวลาต่อ เช่น “ฉันจะจบมันได้ก่อน 2 นาฬิกา 30 นาทีไหม ? ”

คุณก็จะได้คำตอบว่า “ใช่”  และ รู้ว่าอยู่ระหว่างเวลา 2 นาฬิกา และ 2 นาฬิกา 30 นาที

คุณก็อาจจะถามต่อว่า “ฉันจะจบมันได้ก่อน 2 นาฬิกา 15 นาทีไหม ?” และ คำตอบที่ได้คือ “ไม่ใช่”

ก็ถามต่ออีกว่า “ฉันจะจบมันได้ตอน 2 นาฬิกา 15 นาทีใช่ไหม ?” คราวนี้คำตอบที่ได้คือ “ใช่”

สุนัขทุกตัวของ Diane เป็นสุนัขที่เก็บมาเลี้ยง ตอนที่เธอได้มันมา เธอมักจะไม่รู้อายุจริงของพวกมัน แม้จะได้รับทราบอายุโดยประมาณจากสถานดูแลสุนัขที่เป็นต้นสังกัดเดิม แต่ก็มักจะผิดไปจากความจริงอยู่มาก

ที่เธอสนใจวันเกิดที่แท้จริงของสัตว์เลี้ยงก็เพราะเธอต้องการทราบราศี และ วันในสัปดาห์ที่มันเกิด ซึ่งจะช่วยในการเข้าใจลักษณะต่าง ๆ ของมันได้ง่ายขึ้น

ตอนที่เธอได้รับสุนัขเพศเมียชื่อ ไทเกอร์ พวกเขาบอกเธอว่ามันมีอายุประมาณ 1 ปี และ ที่ตัวเล็กเป็นเพราะขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

แม้เธอจะคิดว่ามันผอมมาก แต่ก็ยังสงสัยว่ามันน่าจะมีอายุน้อยกว่า 1 ปี

เมื่อ Diane ใช้เพนดูลั่มตรวจสอบดูก็พบว่า ไทเกอร์มีอายุเพียง 7 เดือนครึ่งเท่านั้น

เธอสงสัยความแม่นยำของเพนดูลั่ม จึงเอาปฏิทินออกมา และให้ Brede (ชื่อนางฟ้าของเธอ ยังจำกันได้ใช่ไหม ?) บอกวันเกิดของไทเกอร์ออกมา

ซึ่งวันที่ที่ได้มาจาก Brede เมื่อนำมาคำนวณแล้วให้ผลออกมาเป็น 7 เดือนครึ่งพอดิบพอดี ตอนนี้ไทเกอร์โตเต็มที่แล้ว ยังคงเป็นสุนัขที่ตัวเล็กกว่าไซบีเรียนฮัสกี้โดยทั่วไป แต่ไม่มีอีกแล้วที่มันจะต้องพบกับการขาดสารอาหารอีก

การที่ Diane ทราบว่ามันเกิดในราศีพฤษภ และ คน หรือ สัตว์ในราศีพฤษภนั้นมักจะดื้อ และ ติดบ้าน ทำให้เธอเข้าใจความต้องการบางอย่างของไทเกอร์ได้

ต่อไปนี้คือชุดคำถามที่ Diane ใช้ถามเพนดูลั่มเพื่อหาวันเกิดของไทเกอร์

อันดับแรกเธอถามว่า “สุนัขตัวนี้อายุ 1 ปีใช่ไหม ?” คำตอบคือ “ไม่ใช่” 

“มันอายุน้อยกว่า 1 ปีใช่ไหม ?” “ใช่”

“มันอายุน้อยกว่า 11 เดือนใช่ไหม ?” “ใช่”

“มันอายุน้อยกว่า 10 เดือนใช่ไหม ?” “ใช่”

ลดเดือนลงเรื่อย ๆ จนถึง “มันอายุน้อยกว่า 7 เดือนใช่ไหม ?” เธอได้รับคำตอบว่า “ไม่ใช่”

เนื่องจากเธอสงสัยในความแม่นยำ เพราะเธอไม่คิดว่าไทเกอร์จะเด็กขนาดนั้น เธอจึงถาม Brede ว่า

“7 เดือนครึ่งคืออายุที่แท้จริงของสุนัขใช่ไหม ? ” คำตอบคือ “ใช่”

เธอจึงหยิบปฏิทินออกมาแล้วเปิดไปที่หน้าที่ควรจะบ่งบอกอายุ 9 เดือน แล้วถามว่า

“เดือนเกิดของสุนัขอยู่ก่อนหน้าเดือนนี้ใช่ไหม”คำตอบคือ“ใช่”

เธอจึงถอยหลังไปทีละเดือน ๆ จนได้คำตอบ “ใช่”

ในเดือนหนึ่ง เธอก็ไล่ถามไปทีละสัปดาห์  “สุนัขเกิดในสัปดาห์นี้ใช่ไหม ?” จนเธอได้สัปดาห์ที่ “ใช่”

จึงเจาะไปที่ระดับวัน จนได้คำตอบที่ “ใช่” อีก

เธอจึงถามว่า “วันที่ 30 เมษายน 1999 คือวันเกิดที่ถูกต้องของไทเกอร์ใช่ไหม ?” คำตอบคือ “ใช่”

มาถึงจุดนี้ Diane ก็ยังไม่อยากจะเชื่อว่าสุนัขของเธอเด็กขนาดนั้นจริง ๆ จึงถามซ้ำว่า

“นี่เป็นความจริงแท้ใช่ไหม ? ” พอได้รับคำตอบมาว่า “ใช่” เธอจึงมั่นใจว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง

1, 2, < อ่านหน้า > 4