นิทานธรรม กับ ดร.เอ๋ย ตอน 18

กิลกาเมซ และต้นไม้แห่งชีวิต...ว่าด้วยการหนีความตาย และ กรรมให้ผลต่างเวลา

วีรบุรุษกิลกาเมซ และ เพื่อนชื่อเอนกิดู ทำการรบพุ่งกับปีศาจ และ ได้ชัยชนะกลับมาเสมอ
จนกระทั่งวันหนึ่งเอนกิดูสร้างความโกรธแค้นแก่เทพเจ้าอิชตาร์
ผู้ล๊อบบี้เทพองค์อื่นว่าเอนกิดูสมควรตาย

เมื่อกิลกาเมซรู้ข่าวการตายของเพื่อน ก็โศกเศร้าเป็นอันมาก
ไม่ใช่เพียงเพราะเขาคิดถึงเพื่อนรัก แต่ความตายของเอนกิดูทำให้เขาคิดถึงความตายของตนเอง

ซึ่งแม้จะมีพละกำลังและความกล้าหาญเหนือปุถุชนทั่วไป
แต่เขาก็ไม่สามารถหนีพ้นชะตากรรมที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ

เขาระลึกได้ว่าบรรพบุรุษของเขาซึ่งมีนามว่า อุทนาบิชทิม เป็นมนุษย์โลกเพียงคนเดียวที่มีความเป็นอมตะ เขาออกเดินทางไปค้นหาอุทนาบิชทิมเพื่อขอความลับของชีวิต และ ความตาย

กิลกาเมซมาถึงตีนเขาใหญ่ที่มีมนุษย์แมงป่องเฝ้าอยู่
มนุษย์แมงป่องบอกกิลกาเมซว่า ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนข้ามภูเขาลูกนี้ไปได้
กิลกาเมซบอกจุดประสงค์ของเขา และ มนุษย์แมงป่องก็ปล่อยให้เขาผ่านไปด้วยความรู้สึกชื่นชม

กิลกาเมซเดินทางต่อไปจนถึงที่ประทับของพระอาทิตย์
พระอาทิตย์เตือนกิลกาเมซว่าสิ่งที่พยายามค้นหาเป็นไปไม่ได้ แต่กิลกาเมซไม่ยอมรับฟัง

ในที่สุด เขาก็มาถึงชายฝั่งทะเลแห่งความตาย
เขาพบเทพที่เฝ้าทะเลเป็นผู้หญิงที่มีถังเบียร์
เธอเตือนกิลกาเมซว่า เขาควรจะหาความสุขให้แก่ชีวิตในขณะที่ยังมีชีวิตจะดีกว่า
เพราะความตายเป็นสิ่งที่พระเจ้ามอบให้มนุษย์ทุกคน
แต่กิลกาเมซดึงดันเดินทางที่เต็มไปด้วยภยันตรายต่อไป

เขาพบคนแจวเรือที่เคยคัดท้ายเรือให้อุทนาบิชทิม เมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมโลกที่ทำลายล้างทุกสรรพสิ่ง เขาขอให้ชายผู้นั้นพาเขาข้ามทะเลแห่งความตาย แต่ชายชราบอกให้เขาต่อเรือขึ้นมาเอง และระวังไม่ให้น้ำกระเด็นมาถูกตัวระหว่างข้ามทะเล
กิลกาเมซทำตาม และในที่สุดก็มาถึงเกาะที่อุทนาบิชทิมอาศัยอยู่

แต่อุทนาบิชทิมก็พูดเหมือนคนอื่น ๆ จนกิลกาเมซถอดใจ เตรียมเดินทางกลับ
อุทนาบิชทิมรู้สึกเห็นใจ จึงเล่าให้ฟังถึงต้นไม้ที่เกิดกลางทะเล ซึ่งมีอำนาจทำให้คนแก่กลับมาหนุ่มสาวเหมือนเดิม

กิลกาเมซพายเรือออกไปกลางทะเล และ ดำน้ำลงไปจนพบต้นไม้มหัศจรรย์
เขาหักกิ่งขึ้นมาซ่อนไว้ในถุง และข้ามฝั่งมาได้อย่างปลอดภัย
ระหว่างทางเขาหยุดอาบน้ำในสระ งูตัวหนึ่งได้กลิ่นต้นไม้อมตะ
จึงเลื้อยเข้ามาคาบเอากิ่งไม้ไป และ กัดกินใบไม้ จึงทำให้งูมีชีวิตใหม่ได้โดยการลอกคราบ

เมื่อกิลกาเมซรู้ว่ากิ่งไม้หาย ก็ร้องไห้เสียใจ
เขาเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่เขาได้ยินเป็นเรื่องจริง

แม้แต่วีรบุรุษยิ่งใหญ่เช่นเขาก็ไม่มีทางเป็นอมตะ และ ต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุขในปัจจุบันขณะ และ ยอมรับจุดจบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องของกิลกาเมซนี้เป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
มันถูกสลักไว้ในแผ่นดินเหนียวตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมีย
เชื่อกันว่ากิลกาเมซมีชีวิตอยู่จริงเมื่อประมาณ สองพันเจ็ดร้อยปีก่อนคริสตกาล
แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีความกลัวตายมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว

อันที่จริง ความกลัวตายทำให้เกิดศาสนาขึ้นหลายศาสนา
แม้แต่ศาสนาพุทธ

แต่ละความเชื่อ แต่ละลัทธิ ก็มีการกำหนดเรื่องชีวิตหลังความตายไว้แตกต่างกัน
เพื่อสร้างความมั่นใจ ความหวัง และ ลดความหวาดกลัวให้แก่สาวกของตน
และ เพื่อผูกมัดให้สาวกมีความสวามิภักดิ์อย่างไม่เสื่อมคลายต่อพระเจ้า และ องค์ศาสดาของตน

คำสอนของศาสนาในโลกเกี่ยวกับเรื่องความตายมีสุดโต่งอยู่ 2 อย่างคือ

1. อุจเฉททิฏฐ มีความเชื่อว่าเมื่อตายแล้ว ชีวิตสูญหมด ไม่มีการเกิดใหม่ ไม่มีกรรมดี กรรมชั่วไม่มีโลกหน้า เมื่อตายไป ธาตุดินคืนสู่ดินธาตุน้ำคืนสู่น้ำ ธาตุลมคืนสู่ลมและธาตุไฟคืนสู่ไฟ

2. สัตสตทิฏฐ มีความเชื่อว่าชีวิตเที่ยงถาวร วิญญาณเป็นอมตะ ถ้าทำดีก็จะมีชีวิตนิรันดร์กับพระเจ้าอย่างมีความสุข ส่วนคนทำชั่วก็จะเสวยทุกข์ในนรกตลอดนิรันดร์กาล

ความเชื่อเกี่ยวกับความตายที่แตกต่าง ส่งผลให้บุคคลใช้ชีวิตที่แตกต่างสอดคล้องกับความเชื่อของตน ผู้ที่มีความเชื่อว่าโลกหน้าไม่มีจริงมักเป็นนักวัตถุนิยม พยายามหาความสุข กินดื่มรื่นเริง ขณะยังมีชีวิตอยู่

ส่วนผู้ที่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ก็จะกลัวบาปกรรม จะไม่ทำความชั่ว
และ จะรักและศรัทธาในพระเจ้า คอยเฝ้าอ้อนวอนขอพระเมตตา

อันที่จริงแล้ว ความเชื่อที่ว่ามีนรกสวรรค์ มีความอุ่นใจ 2 ประการ คือ
ถ้าหลีกเลี่ยงการทำบาป หากสวรรค์มีจริง เราก็จะไปเกิดในสวรรค์
แต่ถ้าสวรรค์ไม่มีจริง เราก็เป็นคนดีในชาตินี้ ได้รับการสรรเสริญ มีความสุข

คนที่ไม่กลัวบาปกลัวกรรรม แม้แต่ไม่มีชาติหน้า แต่ชาตินี้เขาก็อยู่ไม่เป็นสุข

สำหรับพุทธศาสนา ความเชื่อทั้งสองนับว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งคู่
พระพุทธเจ้าไม่สอนเรื่องวิญญาณอมตะ
หรือ ลัทธิฮอลลีวู๊ดที่มีกายทิพย์หลุดออกมาจากร่างมองดูร่างที่นอนอยู่บนเตียงในเวลาตาย


แต่พุทธศาสนาสอนว่า เวลาตาย รูปไม่ได้ไปเกิด
แต่ภวังคจิตนี่แหล่ะไปเกิดใหม่ และ ไม่ใช่จิตดวงเดิม (ภาษาพระไม่เรียกว่า “ดวง” แต่เรียกว่า “ขณะ”)

เนื่องจากจิตมีการเกิดดับ ๆ ตลอดเวลาด้วยความเร็วหลายล้านขณะในหนึ่งวินาที โดยจิตที่ดับไปจะส่งทอดพลังกรรมทุกอย่างให้ดวงใหม่ เนื่องจากพลังกรรมอยู่ในรูปแบบของพลังงานที่ไม่มีวันสูญสลายไปจากจักรวาล

อย่างไรก็ตามด้วยความเร็วขนาดนั้น ทำให้เราไม่รู้สึกถึงการขาดตอน
(ยกเว้นผู้ฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานที่รับรู้ได้ถึงการเกิดดับ)
เพราะแม้แต่กระแสไฟฟ้าที่มีการเกิดดับเพียง 220 ครั้งต่อวินาที
เรายังเห็นแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าส่องสว่างต่อเนื่องเป็นแสงเดียว

จิตของเราไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีรูปมารองรับ
เมื่อเราตายจิตของเราจะหาร่างใหม่เกิดในทันที ในภพภูมิที่แล้วแต่กรรมจะพาไป

แต่เนื่องจากบุคคลย่อมทำกรรมต่าง ๆ ทั้งด ีและ ชั่วในชีวิตหนึ่ง ๆ
กรรมที่มีกำลังแรงที่สุดจะให้ผลก่อน เปรียบเช่นการโยนหินก้อนใหญ่และกิ่งไม้ลงน้ำ ก้อนหินใหญ่จะจมน้ำก่อน

กรรมที่มีกำลังมาก เรียกว่า คุรุกรรม ถ้าเป็นกรรมดี
เช่นการได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ หมดอาสวกิเลส ก็จะนิพพานทันที
ไม่ว่าจะเคยทำร้ายชีวิตใครมาเป็นร้อยเช่นองคุลิมาลก็ตาม
แต่ถ้าเป็นกรรมชั่ว เช่นฆ่าพ่อแม่ของตัว ไม่ว่าจะเคยทำบุญทำทานมาบ้าง แต่เขาก็จะไปสู่ทุคติโดยทันทีเช่นกัน

กรรมที่มีกำลังรองลงมาคือ อาจิณณกรรม เป็นกรรมที่ทำประจำจนติดตัว และ หยั่งรากฝังลึกลงในทั้งหลาย “ภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงวิตกใด ๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปข้างวิตกนั้น ๆ มาก”

จึงจำเป็นที่เราจะต้องคิดดี พูดดี ทำดีอยู่ให้ติดเป็นนิสัยส่งผลไปเป็น อาสันนกรรม หรือ กรรมใกล้ตาย ซึ่งมีความสำคัญมาก
เพราะจิตดวงสุดท้ายเป็นจิตที่นำเราไปสู่ภพภูมิใหม่ เหมือนวัวที่หิวโหยออกมาจากคอก ก็ยืนและเล็มหญ้าอยู่หน้าปากคอกนั้นเอง
ดังนั้นเราสามารถเลือกเกิดในชาติหน้าได้ ถ้าตอนตาย จิตดวงสุดท้ายคิดดี ดังคำบาลีว่าไว้ดังนี้

จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา
เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้ เมื่อจิตผ่องใส สุคติเป็นอันหวังได้

ดังนั้น เราจึงมักนิยมนิมนต์พระมาสวดมนต์แก่ผู้ใกล้เสียชีวิต
ให้เขาระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และกุศลต่าง ๆ ที่เคยได้ประกอบ
เพื่อการตายอย่างมีสติ ดับกิเลสพร้อมสิ้นลม

แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จิตจะต้องถูกฝึกมาอย่างดี จะให้ปล่อยวางในทันทีโดยไม่เคยสะสมบุญบารมีมาคงไม่ได้
ดังนั้น เมื่อไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ และตายอย่างไร เราไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิต
แต่ควรเร่งสร้างบุญสร้างกุศล มีการเจริญสติเป็นต้นเสียตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

สุดท้ายคือ กตัตตากรรม คือกรรมสักแต่ว่าทำ ไม่มีเจตนา เช่น เดินเหยียบกิ้งกือตายโดยไม่ตั้งใจ หรือ ทำบุญเพื่อเอาหน้าโดยไม่ประกอบด้วยปัญญา อันนี้เป็นกรรมที่มีกำลังอ่อน ให้ผลเมื่อไม่มีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีกำลังมากกว่า

                                                               

ดังนั้นเมื่อเกิดมาแล้ว ปัจจุบันเป็นผลของการกระทำในอดีต
และอนาคตก็เป็นผลของการกระทำในปัจจุบัน สุดแต่เราจะไขว่คว้า

  
    

______________________________________________________________

โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
ส่ง อี เมล์ ถึง ดร.อภิวรรณ

อ่านตอนอื่น

ขอเชิญแสดงความคิดเห็นได้ ที่นี่