นิทานธรรม กับ ดร.เอ๋ย ตอน 16

ฝนเอย ทำไมจึงตก...ว่าด้วยหลักปฏิจจสมุปบาท

“ฝนเอย ทำไมจึงตก ?”         “จำเป็นต้องตก เพราะว่ากบมันร้อง”

“กบเอย ทำไมจึงร้อง ?”        “จำเป็นต้องร้อง เพราะว่าท้องมันปวด”
“ท้องเอย ทำไมจึงปวด ?”     “จำเป็นต้องปวด เพราะว่ากินข้าวดิบ”

“ข้าวเอย ทำไมจึงดิบ ?”        “จำเป็นต้องดิบ เพราะว่าไฟมันดับ”
“ไฟเอย ทำไมจึงดับ ?”          “จำเป็นต้องดับ เพราะว่าฟืนมันเปียก”

“ฟืนเอย ทำไมจึงเปียก ? ”      “จำเป็นต้องเปียก เพราะว่าฝนมันตก”
“ฝนเอย ทำไมจึงตก ?” ..............................................................

บทเพลงสำหรับเด็กที่แทบทุกคนในสมัยของผู้เขียน ต้องเคยร้องเล่นวนไปวนมาในวัยเยาว์ สอนให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นก็เพราะมีเหตุให้เกิด และ ทุกอย่างวนกลับมาเป็นวงจรของการเกิดเหตุ และ ผลไม่สิ้นสุด

นอกจากเพลง “ฝนเอยทำไมจึงตก” แล้ว เด็กในสมัยผู้เขียน ยังมีนิทานเรื่อง “ยายกะตา ปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า” อีกเรื่องหนึ่ง ที่แสดงถึงการต่อเนื่องจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่เหตุการณ์หนึ่ง

ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้จากตัวมันเอง และ การดับสิ่งนั้น ก็ต้องดับที่เหตุการณ์ก่อนหน้ามัน

เมื่อได้ศึกษาพุทธธรรมของพระพุทธเจ้าในเรื่องปฏิจจสมุปบาท จึงได้เข้าใจว่า เพลงที่ร้องเล่น และ นิทานเรื่องแรกในชีวิตที่ได้อ่านเอง เป็นการแสดงถึงสัจจธรรมของชีวิต ที่ไม่หยุดเพียงเรื่องฝน หรือ เพียงเรื่องนกกาที่แอบขโมยถั่วงาของยายกะตา

แต่มันเป็นความจริงของธรรมชาติ ของทุกสรรพสิ่ง ทุกชีวิต ทุกเหตุการณ์ ที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้เองจากโชคชะตา หรือ ด้วยความบังเอิญ แต่ทุกสรรพสิ่ง ทุกชีวิต ทุกเหตุการณ์ เกิดขึ้น และ เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีเหตุปัจจัยก่อนหน้านั้นให้เกิดขึ้น

ฝนจะไม่ตก ถ้าไม่มีเมฆฝน เมฆจะไม่มี ถ้าไม่มีแหล่งน้ำ และ แสงแดดที่แผดเผาน้ำให้ระเหยเป็นไอน้ำไปรวมกันเป็นก้อนเมฆ จนไปถึงว่าคนเราจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีการยึดมั่นในชีวิต

             ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมที่สำคัญมากหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ

ความโดยย่อมีอยู่ว่า

“เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น” และ “เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับด้วย” 

การเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทเป็นสิ่งสำคัญมาก พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
“ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท”

องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาทมี ๑๒ ข้อ

นับตั้งแต่ อวิชชา หรือความไม่รู้ ไม่เข้าใจในหลักไตรลักษณ์ เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร หรือ การปรุงแต่ง

สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ หรือ ความตระหนักรู้ และ รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ

วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป หรือ ก่อรูปเป็นชีวิตตามพลังปรุงแต่ง

นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ หรือ การเข้ากระทบระหว่างสฬายตนะ กับ อารมณ์

ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา คือ การเสวยอารมณ์สุข หรือ ทุกข์ หรือ เฉย ๆ

เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คือ ความอยากได้ หรืออยากผลักไส

ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือ การยึดมั่นถือมั่น ติดอยู่ในสิ่งนั้น

อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ คือ เจตนาที่จะกระทำการเพื่อให้ได้มา และ ให้เป็นไปตามความยึดมั่นถือมั่นนั้น

ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ คือ การเกิดในภพที่สมควรกับกรรม บังเกิดเป็นขันธ์ ๕ ขึ้น

ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ และ ความทุกข์ต่างๆ

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทดีขึ้น ขอขยายความดังต่อไปนี้


อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร คือ การปรุงแต่ง เพราะความไม่รู้ตามเป็นจริง จึงคิดวาดภาพไปต่าง ๆ เช่น คนกลัวผี อยู่ในความมืด เมื่อได้ยินเสียงใบไม้ไหวก็นึกว่าเป็นผีมาหลอกหลอน

หรือ เด็กหญิงแดง กับ เด็กหญิงฟ้าเป็นเพื่อนนักเรียนที่รักใคร่สนิทสนมกัน ทุกเช้าเมื่อพบกันที่โรงเรียน ทั้งคู่ก็ยิ้มทักทายกัน วันหนึ่งแดงยิ้มให้ฟ้า แต่ฟ้าไม่ยิ้มตอบ แดงเห็นดังนั้น ไม่รู้ความจริงว่าเหตุผลคืออะไร ก็ตัดสินเองว่า ฟ้ามีเรื่องโกรธเคืองตน

สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ คำว่า “วิญญาณ” คือการรับรู้ ผ่านทางอายตนะภายนอก ได้แก่การได้ยินเสียง การได้เห็น การได้รับรส เป็นต้น

เมื่อปรุงแต่ง ตั้งใจเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง การรับรู้ก็เกิดขึ้น แต่หากเราไม่เอาใจใส่ จิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก การรับรู้ก็ไม่เกิด เช่น เมื่อเราง่วนอยู่กับการอ่านหนังสืออย่างเพลิดเพลิน จิตก็รับรู้แต่เรื่องที่อ่าน ไม่ซัดส่ายออกนอก เมื่อมีใครพูดด้วยก็ไม่ได้ยิน ยุงกัดก็ไม่รู้สึก เป็นต้น

แต่หากมีการปรุงแต่ง เช่นในกรณีของแดง เมื่อคิดเอาเองว่าฟ้าโกรธตน ก็จะคอยรับรู้การกระทำ สีหน้า และ อากัปกิริยาของฟ้า ยิ่งนึกว่าฟ้าโกรธ ก็ยิ่งเห็นสีหน้า กิริยาท่าทางต่าง ๆ ของฟ้าเป็นเรื่องกระทบกระทั่งไปเสียทั้งสิ้น

วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป เมื่อวิญญาณ หรือ การรับรู้เกิด นามรูปก็ต้องเกิดด้วย เพราะวิญญาณต้องมีนามรูปเป็นที่อาศัย

เมื่อแดงคิดว่าฟ้าโกรธตน มองเห็นว่าฟ้ามีอาการบึ้งตึงกับตน ภาวะจิตใจของแดงก็รู้สึกโกรธตอบ สีหน้าของแดง กิริยาท่าทางของแดงก็จะคล้อยไปด้วยกัน

นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ เมื่อเกิดนามรูป อายตนะที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ ได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจจึงอยู่ในสภาพที่ตื่นตัว และทำหน้าที่รับรู้ต่อไป

สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ เมื่อเกิด หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว สฬายตนะเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ไปสัมผัสกับอารมณ์ภายนอก นั่นคือ แดงมองเป็นฟ้าหน้าบึ้ง จิตใจของแดงรู้สึกน้อยใจ โกรธ และ ขัดเคือง

ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาคือความรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือเฉย ๆ เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความรู้สึกสุขหรือทุกข์เกิดขึ้น เช่น แดงจะรู้สึกไม่สบายใจ บีบคั้นใจ เมื่อเห็นหน้าบึ้งของฟ้า

เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา เมื่อได้รับสุขเวทนาก็พอใจ ติดใจ อยากได้เพิ่มอีก เมื่อได้รับทุกขเวทนาก็ขัดใจ เบื่อหน่ายอยากให้ตนพ้นไปจากมัน เช่น แดง เมื่อรู้สึกเจ็บปวดใจก็อยากให้ภาพหน้าบึ้งของฟ้าอันตรธานหายไป

ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น เมื่ออยากได้สิ่งใด ก็ผูกมัดตัวตนไว้กับสิ่งนั้น แดงเกิดความยึดถือว่าพฤติกรรมของฟ้าเกี่ยวข้องกับตนโดยเฉพาะ ยิ่งคิดก็ยิ่งเชื่อ ยิ่งคิดก็ยิ่งโกรธ จะให้คลายความโกรธได้ยาก

อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดภพ การนำเอาตัวตนไปผูกมัดไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เป็นสิ่งเดียวกันกับภาวะชีวิตนั้น เช่น อยากเกิดเป็นเทวดา จึงยึดถือแบบแผนความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าให้ไปเกิดได้อย่างนั้น หากอยากเป็นเศรษฐี ก็ยึดมั่นในคุณธรรมที่จะทำให้ทรัพย์สมบัติเพิ่มพูน เป็นต้น

เมื่อแดงยึดมั่นว่า ฟ้าโกรธตน แดงก็มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์กับฟ้าด้วย

ภพ เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เมื่อเกิดมีตัวตน ก็มี “ตัวกู ของกู” เกิดขึ้น กลายเป็นเราเป็นเทวดา เราเป็นเศรษฐี เราเป็นคนจน เราเป็นนาย เราเป็นบ่าว แดงก็แยกว่า ตัวเองคือแดง ส่วนฟ้าเป็นศัตรูของตน

ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ เมื่อมีตัวตน ก็ย่อมเสื่อมสลายได้ ทำให้เราเกิดความรู้สึกถูกคุกคาม และ หวาดกลัวต่อความตายของชีวิต กลัวพลัดพราก และ เกิดความทุกข์แบบต่าง ๆ เช่น ความร่ำไร ความเสียใจ ความผิดหวังคับแค้นใจ

แดงอาจมีใจไม่สบายขุ่นมัวไปทั้งวัน เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง หงุดหงิดกับเพื่อนคนอื่น ๆ เกิดความขัดแย้งกับคนเพิ่มอีกหลายคน

ในสถานการณ์จริง กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วตลอดสายเพียงชั่วแวบเดียว เช่น บางคนถูกขับรถปาดหน้า เกิดอารมณ์เสีย ขับรถปาดกลับในทันที หรือ ชายเห็นหญิงคนรักของตนอยู่กับชายอื่น ก็อาจเข้าไปทำร้ายเอา หรือ ได้ข่าวคนรักเสียชีวิต ก็อาจเข่าอ่อน เป็นลมหมดสติทันที ยิ่งความยึดมั่นถือมั่นรุนแรงเท่าใด ผลก็ยิ่งรุนแรงเท่านั้น

การจะแก้กระบวนการเกิดทุกข์ตามหลักปฏิจจสมุปบาท
ก่อนอื่นเราต้องเห็นกระแสของความสืบเนื่องจากเหตุปัจจัยทั้งหลาย แม้เป็นช่วงสั้น ๆ ทุกช่วง ให้เข้าใจ และ รู้แจ้งว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์ สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย สิ่งทั้งหลายไม่ได้มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว ไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นเพียงกระแส หรือ กระบวนการที่ประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ เป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ จึงไม่หลงผิดเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้

เมื่อมีสติรับรู้ว่าอยู่ในขั้นตอนไหนของกระบวนการปฏิจจสมุปบาท ก็ให้ตัดที่นั่น เช่น เมื่อมีสติรู้ตัวว่าเกิดการปรุงแต่ง ก็ดับเสีย ไม่ให้เกิดเป็นการรับรู้

เมื่อได้ยิน ได้เห็น ได้กลิ่น รับรส สัมผัส ก็เพียงแต่รับรู้ว่าได้ยิน ได้เห็น ได้กลิ่น รับรส สัมผัส แล้วดับเสีย ไม่ให้เกิดเป็นเวทนา หรือ ความสุข ความทุกข์

เมื่อเกิดความอยากได้ ความไม่อยากได้ ก็ดับเสีย ไม่ให้เกิดเป็นความยึดติด ก็จะสามารถตัดกระบวนการทุกข์ได้ เช่น ในกรณีของแดง หากแดงมองเห็นฟ้าไม่ยิ้มตอบ ก็ให้ใช้ปัญญาคิดว่า ฟ้าอาจมีเรื่องไม่สบายใจ เช่น ถูกแม่ดุมา

พอคิดเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรมากระทบกระทั่งตัว จิตใจกลับเกิดความกรุณา อยากช่วยเหลือ อาจจะเข้าไปปลอบโยน ช่วยแก้ไขปัญหา ก็จะไม่เกิดทุกข์ในใจ

แต่หากวงจรเริ่มแล้ว เราก็ยังแก้ไขได้ เช่นเมื่อแดงรู้สึกขุ่นมัวแล้ว ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของวิภวตัณหา แต่ตัดวงจรโดยการพิจารณาข้อเท็จจริง จิตใจก็หายขุ่นมัว มองเป็นฟ้าต่างไปจากช่วงแรก เป็นต้น

             หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้แก่พระอานนท์ดังนี้
             ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้งและปรากฏเป็นของลึกซึ้ง
เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอดหลักธรรมข้อนี้แหละ
หมู่สัตว์นี้จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่ง จึงขมวดเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม
จึงเป็นเสมือนหญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้อง จึงผ่านพ้น อบายทุคติ วินิบาต สังสารวัฏ ไปไม่ได้”

______________________________________________________________

โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
ส่ง อี เมล์ ถึง ดร.อภิวรรณ

อ่านตอนอื่น

ขอเชิญแสดงความคิดเห็นได้ ที่นี่