นิทานธรรม กับ ดร.เอ๋ย ตอน 10

เจ้านายเผด็จการ

เมื่อแรกที่ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธธรรม และ ความเครียดจากงาน

ผู้เขียนได้สำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มผู้บริหาร และ พนักงานทุกระดับจำนวนหลายราย เพื่อรับทราบถึงปัญหา และ สาเหตุของปัญหาที่คนทำงานประสบ ปรากฏว่าตัวก่อความเครียดที่ถูกกล่าวถึงเป็นอับดับต้น คือ

การมีเจ้านายที่เป็นนักเผด็จการ

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เหมาเจ๋อตุง

เจ้านายที่คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง เป็นคนที่สำคัญที่สุดในงาน และ ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เขาต้องการ ตัดสินใจคนเดียวโดยไม่ฟังความเห็นของใคร

เป็นที่น่าสังเกตุว่า เจ้านายประเภทจอมเผด็จการนี้ มีอยู่มากมายในสังคมไทย แม้ว่าหลายองค์กรมีการพัฒนาระบบการทำงานให้ทัดเทียมบริษัทข้ามชาติชั้นนำ แต่สไตล์การบริหารแบบเจ้าขุนมูลนาย ก็ยังฝังรากลึกจนยากจะไถ่ถอน

และ เมื่อเจ้านายไม่เปลี่ยน ในขณะที่ลูกน้องเป็นคนรุ่นใหม่ต้องการแสดงออก ต้องการความเป็นตัวตน

ความไม่สอดคล้องกันนี้ย่อมสร้างบรรยากาศการทำงานที่ตึงเครียด อันส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนทำงาน ต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และ ลดโอกาสที่จะจูงใจให้คนทำงานได้ตามเป้าหมาย

เครียด

นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Harvard ได้กำหนดสไตล์การบริหารไว้ 6 อย่าง ได้แก่ เผด็จการ มอบอำนาจ พวกพ้อง ประชาธิปไตย ทำเอง และโค้ช

ผู้บริหารมีสไตล์หลักอย่างใดขึ้นกับการมองสถานะของตัวเองในโลกที่เขามองเห็น และ แรงจูงใจ ความต้องการ ความกลัว ความกังวลลึก ๆ ในจิตใจของเขา

ผู้บริหารที่ถนัดใช้สไตล์เผด็จการมักจะควบคุมอย่างเข้มงวด คาดหวังให้ลูกน้องทำตามคำสั่งในทันที ให้บทสะท้อนกลับเชิงลบ และ สร้างแรงจูงใจด้วยการเน้นบทลงโทษ

ลงโทษ

ผู้บริหารประเภทมอบอำนาจ มักพร่ำอธิบายวิสัยทัศน์ และ ทิศทางขององค์กรในระยะยาว ขอความเห็นจากพนักงาน ติดตามการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา ให้บทสะท้อนกลับทั้งเชิงบวก และ เชิงลบ

ผู้บริหารประเภทต้องการพวกพ้อง จะมุ่งการปฏิสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับทิศทางการทำงาน หรือ เป้าหมาย และ มาตรฐาน แต่เน้นการสร้างสันติสุขในหน่วยงาน หลีกเลี่ยงการสนทนาเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงาน และ ความขัดแย้ง

ผู้บริหารประเภทรักประชาธิปไตย มักให้พนักงานร่วมในการตัดสินใจ แต่ไม่ค่อยให้บทสะท้อนกลับในเชิงลบ

ผู้บริหารประชาธิปไตย

ผู้บริหารที่ชอบลงมือทำเอง มักมีมาตรฐานสูง ไม่สบายใจถ้าต้องมอบอำนาจ กลัวความผิดพลาด หรือ เสียมาตรฐาน ไม่รู้สึกเห็นใจพนักงานที่มีขีดความสามารถต่ำ ไม่ค่อยใช้เวลาในการพัฒนาพนักงาน และ ไม่ค่อยจะประสานงานกับผู้อื่น

ส่วนผู้บริหารประเภทสุดท้ายคือโค้ช ผู้บริหารประเภทนี้ มักวางแผนการพัฒนาพนักงานในระยะยาว ชี้จุดอ่อนจุดแข็งของผู้ใต้บังคับบัญชา ทำความเข้าใจ และ ตกลงกับลูกน้องเกี่ยวกับแผนการพัฒนารายบุคคล และ ใช้ทั้งวิธีสั่งการ และ บทสะท้อนกลับอย่างมีประสิทธิภาพ

โค้ช

ผู้บริหารอาจจะต้องมีสไตล์ทั้งหกนี้อยู่ในคมฝัก เพื่อที่จะชักออกมาใช้ได้ตามเหมาะสมแก่สถานการณ์

ความสามารถในการคัดเลือกสไตล์ให้เข้ากับเหตุการณ์เป็นสมรรถนะที่จำเป็นของผู้บริหารที่มีประสิทธภาพ แต่โดยหลักการแล้ว ผู้บริหารควรวางแผนระยะยาวมากกว่าที่จะควบคุมการทำงานอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอน

แต่ประเด็นของเราไม่ได้อยู่ที่เจ้านายจะมีสไตล์อย่างไร เจ้านายของเราจะเป็นอย่างไรก็ช่างท่านเถอะ

เรามาดูที่ตัวเราดีกว่า มาขจัดความทุกข์ความเครียดของตัวเราที่ตัวเราเอง

เพราะตัวเราเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดทุกข์-สุขแก่ตัวเอง ไม่ใช่ผู้อื่นจะสามารถดลบันดาลให้

การยอมจำนนให้เจ้านายบันดาลทุกข์-สุขให้เรานั้น ทำให้เราไม่มีอิสระต่อชีวิตของเราเอง

ถึงเวลาที่ต้องปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการเราไว้เสียที

ปลดตรวน

เนื่องจากประเด็นนี้เป็นประเด็นเปิดในหนังสือเล่มนี้ จึงอยากชักชวนให้ผู้อ่านใช้วิธีแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4 เป็นประเดิม

องค์ประกอบแรกของอริยสัจ 4 คือ “ทุกข์”

ก่อนอื่นเราต้องรู้จักศัตรูของเราก่อน ว่าเรากำลังต่อสู้กับอะไร

ณ ที่นี้ ท่านผู้อ่านตอบได้หรือไม่ว่า การมีเจ้านายเผด็จการ ทำให้เกิดทุกข์อย่างไร

ถ้าท่านตอบว่า

“ก็การมีเจ้านายเผด็จการไง นี่คือความทุกข์”

คำตอบนี้ยังไม่ใช่ เพราะ”เจ้านายเผด็จการ”ไม่ใช่ความทุกข์ในตัวเอง

ทุกข์ถ้าใช่ ทุกคนที่อยู่ใกล้เจ้านายเผด็จการต้องมีทุกข์ แต่ทำไมหลายคนเขาไม่เป็นทุกข์เหมือนเราล่ะ

เพราะเขาไม่มีจิตใจเหมือนเราหรือ ?

หรือว่า จริง ๆ แล้ว “เจ้านายเผด็จการ” ไม่ใช่ตัวทุกข์โดยธรรมชาติ แต่เป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ ส่วนตัวทุกข์นั้นคือความบีบคั้นที่ทนได้ยากที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

ทุกข์ที่เกิดในใจของเรา อันเกิดจากปัจจัยของการมีเจ้านายเผด็จการแตกต่างกันในบุคคลที่แตกต่าง นี่ก็แสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ตัวทุกข์แท้ ๆ ของการมีเจ้านายเผด็จการไม่มีจริง

ถ้ามีจริงทุกคนควรจะต้องมีประสบการณ์เดียวกัน แต่นี่ ความทุกข์เกิดจากการปรุงแต่งของแต่ละบุคคล จึงสำแดงออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น

ความไม่ได้ดังใจที่อยากแสดงความเห็น แต่ไม่ได้แสดง,

ความรู้สึกไม่มีอำนาจ ขาดความภูมิใจในตัวเอง,

ความรู้สึกเจ้านายไม่เห็นความสามารถ ไม่ให้โอกาส,

ความรู้สึกไม่ได้ทำตามสิ่งที่ต้องการ แต่ต้องทำตามคำสั่งของนาย

แล้วอะไรล่ะที่เป็นตัวทุกข์ของผู้อ่านจริง ๆ

พอเรามองเห็นทุกข์แล้ว ก็แทบไม่ต้องพิจาจรณาองค์ธรรมข้อที่ 2 ของอริยสัจจ์ 4 คือ สมุหทัย หรือ เหตุของทุกข์เลย เพราะมันชัดเจนมากว่า ทุกข์ทั้งหลายที่ยกขึ้นมานั้นเกิดจากความยึดมั่นในความคิดเห็นของตน และ ในตัวตนของเราทั้งนั้น

แท้จริงแล้วเราไม่พอใจก็เพราะเราเองก็อยากเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราต้องการ เป็นไปตามที่เราคิดเห็น เราเองก็คิดว่าความคิดเห็นของเราถูกต้องที่สุด หรือ ถูกต้องมากกว่าความคิดเห็นของนาย เพียงแต่เราไม่มีโอกาสแสดงออกหรือตัดสินใจขั้นสุดท้ายได้แบบนายเท่านั้นเอง

เรียกว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” หรือเปล่า

องค์ประกอบที่สามของอริยสัจ 4 คือ นิโรธ คือ การหลุดพ้นจากความทุกข์

หรือ ในกรณีนี้ คือ การรับรู้ว่า เมื่อความเครียดของการไม่ได้เจ้านายดังใจเกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในตัวเราเองแล้ว การจะขจัดความเครียดก็สามารถทำได้ โดยการขจัดสาเหตุของความเครียดนั้น

เมื่อเรารู้ว่าอะไรคือตัวทุกข์ อะไรทำให้เกิดทุกข์ และ รู้ว่าเราออกจากทุกข์นั้นได้ เราก็เดินทางต่อไปยังองค์ประกอบสุดท้าย คือ มรรค หรือ หนทางที่เราจะพ้นสภาวะของจิตใจที่บีบคั้นไปสู่การทำงานที่มีความสุข

อันดับแรก ถ้าเราทุกข์เพราะ “ไม่ได้ดั่งใจที่อยากแสดงความเห็น แต่ไม่ได้แสดง”

ผู้เขียนเห็นว่า ถึงเจ้านายของเราจะเป็นเผด็จการ เอาแต่ความคิดของตัวเป็นใหญ่ แต่หากเรามีความคิดเห็นที่อยู่ในขอบข่ายของความรับผิดชอบของเราแล้ว เราก็มีหน้าที่ที่ต้องแสดงความคิดเห็นนั้น ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราอาจจะรู้มากกว่าเจ้านายในบางกรณีเสียด้วยซ้ำ

หากเราดูจังหวะ ดูโอกาส และ พัฒนาทักษะในการสื่อสารที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างอ่อนน้อมสุภาพ ไม่แสดงความอวดดี อวดเก่ง เจ้านายทุกคนย่อมได้ยิน

แต่หากเรามีความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ แต่ไม่กล้าแสดงออก นั่นเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งต้องถามตัวเองว่า “กลัวอะไร ทำไมจึงไม่กล้าแสดงออก ทั้ง ๆ ที่เรามีความเชื่อมั่นในความคิดเห็นนั้น” ซึ่งเราจะพูดถึงในตอนต่อ ๆ ไป

แต่เมื่อแสดงความคิดเห็นออกไปแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร เราไม่อาจควบคุมได้

สิ่งที่เราควบคุมได้คือ การสื่อข้อมูล และ ความคิดเห็นที่ชัดเจนอย่างเป็นขั้นตอน ไม่เยิ่นเย้อ  มีหลักฐานอ้างอิง ไม่เลื่อนลอย มีเหตุผลรองรับ สามารถอธิบายได้ ไม่ปกปิด หรือ บิดเบือนข้อเท็จจริง

เมื่อเราทำหน้าที่นั้นอย่างดีที่สุดแล้ว เจ้านายจะพิจารณาอย่างไร เราก็ควรจะภูมิใจว่าเราได้ปฏิบัติหน้าที่ตามความเหมาะสมนั้นแล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะต้องนำมาสร้างเป็นความทุกข์ให้แก่ตนเองอีกต่อไป

เราควบคุม “กรรม” หรือการกระทำของเราได้ แต่เราควบคุม “วิบากกรรม” หรือผลของการกระทำไม่ได้ เพราะมันมีปัจจัยอีกหลายด้านเข้ามาเกี่ยวพัน

ความทุกข์ลำดับต่อไปคือ “ความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ขาดความภูมิใจในตัวเอง”

ถ้าคุณรู้สึกเช่นนี้ ต้องถามตัวเองว่า

“ความภูมิใจตัวเองของเรา ขึ้นอยู่กับการนำอำนาจออกมาใช้กับผู้อื่น หรือ ความภูมิใจในตัวเองของเรา ขึ้นอยู่กับความดี ความสามารถที่เรามีสะสมอยู่ในตัวกันแน่?”

เราก็ได้เห็นแล้วว่า เมื่อเจ้านายของเราใช้อำนาจกับลูกน้องมากเกินไป อำนาจนี้ก็กลับมาสร้างผลลบได้ ลูกน้องกลับขาดความศรัทธา ขาดความยำเกรง แล้วเรายังคิดว่าอำนาจเป็นทรัพย์ที่น่าแสวงหาหรือ (ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า ห้ามไม่ให้เจ้านายใช้อำนาจ เจ้านายจำเป็นต้องใช้อำนาจ แต่เป็นอำนาจเชิงบวกเพื่อสร้างสรรค์ให้องค์กร ไม่ใช่อำนาจเชิงลบเพื่อตนเอง)

จงภูมิใจในอำนาจของความดีของเรา อำนาจของน้ำใจ ของการรู้จักให้อภัย ของความจริงใจ ของความทุ่มเท ของความใฝ่รู้ และ การพัฒนาตัวเอง และ อำนาจของสมรรถนะของเรา จะดีกว่าที่จะภูมิใจด้วยการใช้อำนาจเหนือผู้อื่น ซึ่งเป็นดาบสองคม และ ไม่ใช่ความดีในตัวของมันเอง


ส่วนความทุกข์ที่ว่า “เจ้านายไม่เห็นความสามารถ ไม่ให้โอกาส” ตรงนี้ เราต้องพินิจพิเคราะห์ให้ดีว่า เรามีความสามารถจริง แต่เจ้านายมองไม่เห็น หรือ เราประเมินตนเองผิดไป แท้จริงแล้ว เรายังขาดสิ่งที่เจ้านายต้องการเพื่อได้รับโอกาสกันแน่

ถ้าเรามั่นใจว่าเรามีทุกอย่างที่จำเป็น แต่เจ้านายไม่ให้โอกาสแสดง หรือ ไม่เห็นคุณค่า ผู้เขียนแนะนำให้เปลี่ยนงานเสีย เพราะว่า ชีวิตของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงชีวิตที่เราสามารถสร้างงานที่เป็นประโยชน์แก่สังคมได้ มันสั้นเกินไปที่จะเสียเวลาอยู่กับผู้ที่ไม่เห็นคุณค่าของเรา

เรามีสิทธิ์ที่จะผลิตงานให้เต็มกำลังความสามารถ และ เต็มศักยภาพ หาไม่แล้วก็เป็นการเสียทรัพยากรของแผ่นดินไปเปล่า ๆ เสียเวลาที่เราจะทำประโยชน์ได้ยิ่งใหญ่กว่า

แต่ถ้าหากเราประเมินตัวเองผิดไป ก็ต้องถามตัวเองว่า เปลี่ยนงานแล้วจะตกงานหรือไม่

ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็ต้องมองหาจุดอ่อนที่เราต้องพัฒนา และ พัฒนามันเสียก่อนที่จะผลีผลามลาออกจากงานไป

ความทุกข์อันสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึงจากการที่มีเจ้านายนักเผด็จการที่จะกล่าวถึง คือ “รู้สึกไม่ได้ทำตามสิ่งที่ต้องการ แต่ต้องทำตามคำสั่งของนาย”

ในกรณีนี้ หมายถึง เราไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้น หากเราเห็นดีเห็นชอบกับคำสั่งนั้น ความรู้สึกอึดอัดนี้คงไม่เกิดขึ้น

ยกเว้นแต่ว่าคุณจะเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเองสุด ๆ ไม่ต้องการรับคำสั่งจากใคร ซึ่งผู้เขียนแนะนำให้ไปเปิดบริษัทเอง (แต่ก็ต้องรับคำสั่งจากลูกค้าอยู่ดี) หรือ นอนเล่นอยู่บ้าน จะมีความสุขมากกว่า

แต่หากเราต้องทำตามคำสั่งที่ขัดกับความรู้สึกของเรา เรามีหน้าที่ชี้แจงให้นายรับทราบถึงข้อดี-ข้อเสียจากคำสั่งนั้นที่จะมีต่อองค์กร หากคุณไม่ชี้แจง แต่รับมาทำอย่างไม่มีควาสุข คุณไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นกับใครเลย และ คุณไม่มีสิทธิ์จะบ่น หรือ เครียดเนื่องจากคุณเองก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่

แต่หากบอกออกไปแล้ว เจ้านายยังคงให้ปฏิบัติต่อไป เราต้องวางใจว่า การตัดสินใจทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่ผิดร้อยเปอร์เซนต์ หรือ ถูกร้อยเปอร์เซนต์

ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ขึ้นกับบริบท หรือ กรอบของสมมุติฐาน

ความเห็นของนายกับความเห็นของเราก็ไม่ผิด หรือ ถูกร้อยเปอร์เซนต์ แต่เรา และ นายอาจจะพิจารณากันในคนละมุมมอง ในคนละบริบท ในคนละจุดประสงค์

ดังนั้น จงทำไปเถิด จงเป็นผู้ตาม หรือ เป็นสมาชิกของทีมที่ดี

การตัดสินใจทุกอย่างมีความเสี่ยง เพราะปัจจัยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่เราคิดอาจไม่เป็นไปตามที่เราคิดเสมอไป  จะไปยึดมั่นกับการตัดสินใจอันหนึ่งอันใดทำไม แต่เมื่อผลออกมาเกิดเป็นปัญหา ก็ค่อยแก้ปัญหานั้นไปทีละเปลาะ ดีกว่าโทษกันและกัน เพราะไม่มีใครรู้อนาคตที่ปรับเปลี่ยนไม่นิ่งอยู่

ถึงแม้องค์ต้องวางแผนระยะยาว แต่ในแต่ละก้าวที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ องค์กรต้องยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เราคาดได้ยาก เราจะสรุปเอาเองได้อย่างไรว่าอะไรถูก อะไรผิด

ผู้เขียนขอสรุป ณ ตรงนี้ก่อนจบว่า การมีเจ้านายที่เป็นนักเผด็จการ ไม่ได้หมายความว่า คุณจะเสียสิทธิ์ และ หน้าที่ในการแสดงความห็นที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร

หากคุณไม่มีทักษะในด้านการสื่อสาร หรือ ในการโน้มน้าว คุณก็ไม่มีอำนาจที่คุณต้องการ และ ต้องพยายามพัฒนาต่อไป

หากคุณได้แสดงความเห็นไปแล้ว เจ้านายไม่รับฟัง ก็ของให้คณภูมิใจว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว ผลออกมาอย่างไร เราควบคุมไม่ได้ และ ไม่ควรยึดถือความคิดของเราว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องเพียงสถานเดียว

ตัวคุณเองก็ต้องเรียนรู้เป็นผู้ตามที่ดี

หากเจ้านายเป็นผู้นำที่ไร้สมรรถภาพจริง ๆ คุณจึงควรจะขยับขยายหาที่ทำงานใหม่กับผู้ที่สามารถนำคุณไปสู่ความเจริญตามความสามารถของคุณจะดีกว่า

ลาออก

______________________________________________________________

โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
(aphivan@gmail.com)

อ่านตอนอื่น

ขอเชิญแสดงความคิดเห็นได้ที่นี่

Free hit counter