นิทานธรรมกับ ดร.เอ๋ย ตอน 8
นักไต่ผา
...ว่าด้วยท่าทีต่ออดีตและอนาคต


นักเดินป่าคนหนึ่งเผชิญหน้ากับเสือที่ดุร้าย...

เสือ

...เขาวิ่งหนีมาจนถึงปากเหว ด้วยความสิ้นหวังที่จะรักษาชีวิตของตน

เขายึดเถาวัลย์ และโหนตัวลอยอยู่กลางอากาศ แต่โชคร้าย มีหนูสองตัวออกมาจากโพรงหิน และ เริ่มแทะเถาวัลย์

ทันใดนั้น เขามองเห็นผลสตรอเบอรี่แดงอวบน่ารับประทาน เขาเด็ดมันเข้าปาก และดื่มด่ำกับรสอร่อยที่แสนหอมหวาน

เรื่องนักไต่ผานี้ ผู้อ่านคงเคยได้ผ่านตามาว่า เป็นเรื่องของการหาความสุขจากปัจจุบันขณะ ไม่คิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว และไม่กังวลถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

แต่เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ อาจมีคนคิดแย้งว่า ถ้าเราไม่คิดถึงอนาคต ไม่วางแผนสำหรับอนาคต แล้วเราจะไปถึงจุดเป้าหมายได้อย่างไร มันก็จะกลายเป็นการใช้ชีวิตที่สะเปะสะปะ จะทำกิจอะไรก็ไม่เป็นไปตามหลักการของการบริหารสมัยใหม่ที่อุตส่าห์ไปร่ำเรียนมา

พระพุทธเจ้าความคิดเช่นนี้ ขัดต่อหลักการของพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง เพราะพระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงอริยสัจสี่ ท่านก็ทรงตั้งเป้าขึ้นมาก่อน คือทรงวาง”นิโรธ” หรือภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป เป็นหลักชัยของการเข้าสู่อริยะ แล้วจึงวาง “มรรค” หรือหนทางที่จะเดินไปสู่เป้าประสงค์นั้น ไม่ได้ทรงสอนให้เดินไปโดยไม่วางแผน หรือ ไม่รู้ทิศทางแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องไม่ให้คิดถึงอดีต ก็มีความคลาดเคลื่อนในความเข้าใจ และ แย้งว่า ถ้าเราไม่คิดถึงอดีตแล้ว เราจะประเมินผลงานหรือเรียนรู้ปรับปรุงผลงาน หรือ การกระทำของเราได้อย่างไร และถ้าเราไม่เข้าใจอดีต เราจะเข้าใจปัจจุบันได้อย่างไร

แท้จริงแล้ว ทั้งอดีตและอนาคตเป็นสิ่งที่เราต้องนำมา “คิด” เพียงแต่เราต้องไม่ “อยู่”กับมัน ไม่หวนหาอาลัย หรือ จมปลักอยู่กับความทุกข์ในอดีต หรือ เพ้อฝัน คาดหวังกับอนาคต ทั้งในเรื่องที่เราชอบให้เป็น หรือ ในเรื่องที่เราผลักใสไม่อยากให้เกิด

การกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หมกมุ่นกับสิ่งที่เราปรุงแต่งไปเอง เป็นการทำร้ายตัวเองอย่างไม่มีเหตุผล เพราะสิ่งที่เป็นกังวลมักไม่เกิดขึ้น หรือ ไม่รุนแรงเท่ากับที่เราสร้างภาพหลอกตัวเอง และ เราก็มักจะผ่านพ้นมันได้อย่างปลอดภัย

สิ้นหวัง กังวล กังวล

ถ้าท่านไม่เชื่อ ก็ลองนึกถึงเรื่องที่ทำให้ท่านกังวลมากในปีที่ผ่านมา ผู้เขียนรับรองได้ว่า ท่านจำได้ไม่ถึงครึ่ง ถ้ามันเป็นเรื่องสำคัญจนทำให้ท่านกินไม่ได้นอนไม่หลับ เหตุใดท่านจึงลืมมันได้อย่างง่ายดาย

สิ้นหวังสิ้นหวัง

ในขณะเดียวกัน ถ้าท่านคาดหวังที่จะได้บางสิ่งด้วยหัวใจพองโต หากในที่สุด เราพลาดจากสิ่งนั้นไป ความผิดหวังจากการที่เราทุ่มใจให้ก็จะสร้างความทุกข์ให้เรา นับเป็นการทำร้ายตัวเองอย่างไม่มีเหตุผลเช่นกัน

ถ้าเราเป็นศิษย์ของพระตถาคต เราก็ควรเดินตามอย่างมีปัญญา

พระพุทธเจ้าตั้งเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมไว้เป็นธงชัยแล้ว จึงค้นคว้าหาวิธีไปสู่ความสำเร็จนั้น

เราเองประสงค์สิ่งใดก็ควรตั้งเป้าให้ชัดเจน เช่น พระอานนท์ในอดีตชาติครั้งเป็นเจ้าชายสุมนในสมัยพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ เคยตั้งความปรารถนาเป็นพระอุปฐากของพระพุทธเจ้าในอนาคต เจ้าชายสร้างวิหารถวายพระพุทธเจ้า และ พระภิกษุสงฆ์ ส่วนตัวพระองค์ประทับอยู่ใกล้คอยปรนนิบัติอยู่ตลอด 3 เดือน

ความหวังสรุปง่าย ๆ คือ เราสามารถหวังได้ แต่อย่าคาดหวังว่ามันจะเป็นไปตามที่เราปรารถนา ความหวังทำให้เรามีความอดทน มีความพากเพียร มีความชุ่มชื่นใจ แต่เมื่อใดที่เปลี่ยนจากความหวังเป็นความคาดหวัง คราวนี้เมื่อไม่สมหวังขึ้นมา เราจะตกจากที่สูงกว่า และ เจ็บกว่า

ส่วนเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว จะมีทั้งเรื่องที่ทำให้เราสุขใจ และ เรื่องที่ทำให้เราท้อใจ ท่าทีที่ถูกต้องในการปฏิบัติต่อความรู้สึกจากเหตุการณ์ในอดีต คือ การเรียนรู้จากมัน เรารับเอาความรู้สึกดี ๆ มาสร้างกำลังใจที่จะทำสิ่งนั้น ๆ ต่อไป

หากมีเรื่องสุขใจที่ผ่านพ้นไปแล้ว ก็ไม่ควรคิดอาลัยอาวรณ์ เราก็ควรปล่อยวางให้ถือหลักไตรลักษณ์ว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรอยู่คงที่ หรือมีข้อบกพร่องใดบ้างหรือไม่ เมื่อค้นพบแล้วก็จัดการปรับปรุงแก้ไข

แต่ถ้าในอดีต มีเหตุการณ์ที่สร้างทุกข์ หรือ ความไม่สมหวัง เช่น สอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่ต้องการไม่ได้ หรือ โดนปลดออกจากงานเนื่องจากมีการลดค่าใช้จ่ายองค์กร เราจะคิดถึงมันในแง่ลบให้เป็นศรปักคาอก ไม่ยอมถอดถอนหรือจะเปลี่ยนให้เป็นบทเรียน หาหนทางที่ดีกว่า

Regarding Henryผู้เขียนเพิ่งได้ดูภาพยนตร์ค่อนข้างเก่าเรื่องหนึ่งทาง HBO ชื่อ Regarding Henry และ ประทับใจตัวละครที่เป็นนักกายภาพบำบัดชื่อแบรดลี่ ซึ่งดูแล และ ให้กำลังใจพระเอกผู้สูญเสียความทรงจำ พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ จนฟื้นกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม

แบรดลี่เล่าประวัติชีวิตของตนเองว่าเคยเป็นนักฟุตบอลฝีเท้าดี และ หวังจะได้เล่นอาชีพ จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุในสนามทำให้หัวเข่าแตก ไม่สามารถเอาดีในการกีฬาได้อีกต่อไป เขาหันมาเรียนกายภาพบำบัด และ สามารถช่วยคนไข้นับร้อยรายให้เดินได้ ช่วยตัวเองได้ พูดได้ ทำให้ชีวิตเขามีความหมาย

เขาพูดว่า หากไม่เกิดอุบัติเหตุเสียก่อน ชีวิตเขาคงไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเช่นนี้ ส่วนพระเอกนั้นเล่าก็เปลี่ยนจากคนบ้างาน มีปัญหาครอบครัวใกล้แตกหัก กลายมาเป็นคนใหม่ทีอ่อนโยน รู้จักความรัก และ ใช้ชีวิตที่มีความสุข และ สมดุลมากขึ้น

หรือ เรื่องจริงของ อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ครูสอนพละ ซึ่งมีความฝันว่าจะตั้งใจทำงานในหน้าที่ให้สูงสุด เพื่อปลูกบ้านให้พ่อแม่ ส่งเสียน้องเรียน บวช แต่งงาน และ มีความสุขนิรันดร์ จนประสบอุบัติเหตุขณะสอนนักเรียนว่ายน้ำ อาจารย์กำพลกระโดดน้ำ ศีรษะพุ่งไปสู่ก้นสระ กระดูกต้นคอหัก กระทบกระเทือนกระดูกสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต 

กำพล ทองบุญนุ่ม กำพล ทองบุญนุ่ม

ในตอนแรก อาจารย์ใช้ชีวิตอย่างคนสิ้นหวัง ฟุ้งซ่าน มีความทุกข์ บีบคั้น จน 4 ปีผ่านไป อาจารย์กำพลเริ่มคิดว่าจะใช้ชีวิตที่เหลือให้เป็นประโยชน์อย่างไร จึงเริ่มศึกษาธรรมะ และ ฝึกกรรมฐานกับหลวงพ่อคำเขียน วัดป่าสุคะโต จนปัจจุบัน อาจารย์ “พ้นจากคนเป็นทุกข์ กลายเป็นผู้เห็นทุกข์” และ แสดงธรรมให้ญาติโยมที่มาปรึกษาธรรมะให้ผู้ที่ท้อแท้มีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไป โดยเอาร่างกายที่พิการเป็นอุปกรณ์ของพระธรรม เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

ยังมีตัวอย่างอีกมากมายไม่รู้จบ ที่แสดงว่า ถ้าเราไม่ตกแบบก้อนดิน แต่ตกแบบลูกบอล หรือ ลูกปิงปอง บางครั้งวิกฤตการณ์ของชีวิตก็เป็นจุดเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ลูกบอล

มีคนเคยกล่าวว่า “บางครั้ง ของขวัญที่ดีที่สุด อยู่ในกล่องที่น่าเกลียดที่สุด”

ของขวัญ

______________________________________________________________

โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
(aphivan@gmail.com)

อ่านตอนอื่น

แสดงความคิดเห็นที่นี่