นิทานธรรมกับ ดร.เอ๋ย ตอน 7
มหาวิทยาลัยนาลันทา
...ว่าด้วยหน้าที่ของอุบาสก-อุบาสิก


มหาวิทยาลัยนาลันทา อินเดีย

ณ เมืองนาลันทาอันเป็นสถานที่เกิด และ ที่ดับขันธ์นิพพานของพระสารีบุตร...

...เคยมีมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนา เจริญรุ่งเรืองหลายร้อยปี พระถังซัมจั๋งที่เรารู้จักดีก็ศึกษา และ ได้เป็นผู้บริหารของที่นี่ด้วย ต่อมาภายหลังนักศึกษามีมากขึ้น การเรียนการสอนเริ่มมีหลากหลาย ศาสนาพุทธเองก็เริ่มอ่อนแอลง นาลันทา ซึ่งเคยเป็นสถานที่สอนพุทธศาสนาสายเถรวาท หรือ หินยาน ก็กลายเป็นที่สอนนิกายมหายาน

พระสงฆ์ในระยะหลังละเลยพระธรรมวินัยถึงขนาดมีนิกายตันตระที่ให้พระเสพกามได้ อุบาสก อุบาสิกาเองก็ไม่สนใจใยดีพระศาสนา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายสงฆ์ฝ่ายเดียว พุทธบริษัทที่พระพุทธองค์ทรงหวังจะให้ผดุง และ ค้ำจุนพุทธศาสนาอ่อนแอกันเสียหมด วันแห่งความสิ้นหวังก็มาพร้อมกับกองทัพมุสลิมชาวเติร์ก

แม่ทัพมุสลิมพร้อมทหาร 200 นาย บุกเข้ามายังมหาวิทยาลัยนาลันทาด้วยเข้าใจว่าเป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ มีบันทึกเขียนไว้ว่า

กองทัพมุสลิม กองพัทมุสลิม

“ป้อมปราการที่นี่ช่างน่าแปลก นักรบทุกคนล้วนแต่นุ่งห่มสีเหลือง โกนหัวโล้นไม่มีอาวุธในมือ นั่งกันอยู่เป็นแถวๆ เมื่อเราไปถึงก็ไม่ลุกหนี ไม่ต่อสู้ เมื่อเราเอาดาบฟันคอขาด คนแล้วคนเล่า ก็ยังนั่งกันเฉยอยู่ ไม่ร้องของชีวิต ไม่โอดครวญ”

ว่ากันว่า ที่นาลันทามีหอสมุดที่ใหญ่มาก ถูกเผาอยู่ถึง 3 เดือน คัมภีร์ต่าง ๆ ที่เก็บไว้จึงหมด พระบางองค์ที่หนีรอดมาได้ก็เก็บเอาคัมภีร์บางส่วนออกมาด้วย แต่เป็นส่วนน้อย

นับแต่นั้น เมื่อนาลันทาถูกเผา ศาสนาพุทธก็ได้หายไปจากแผ่นดินอินเดีย และไม่เคยกลับมารุ่งเรืองอีกตราบจนปัจจุบัน

พระพุทธศาสนาเกิด และ เจริญรุ่งเรืองในประเทศอินเดียเป็นเวลานานถึง 1500 ปี จากนั้นก็เสื่อมลงเรื่อย ๆ จนสูญหายไปจากอินเดีย และ ต่อมาก็เกิดภัยทั้งภายใน และ ภายนอกทำให้พุทธศาสนาต้องเสื่อมไปจากประเทศต่าง ๆ เช่น เปอร์เซีย อัฟกานิสถาน เตอรกีสถาน รัสเซีย ปากีสถาน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จนเกือบจะหมด

ครั้งหนึ่งที่พระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา แล ะญี่ปุ่นก็เกือบจะสูญสิ้น ในปัจจุบันแม้แต่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย พม่า เกาหลีใต้ ศรีลังกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น เนปาล ภูฏาน สิกขิม ก็กำลังถูกภัยต่าง ๆ คุกคามเช่นกัน แล้วชาวพุทธเช่นเรา จะปล่อยให้พุทธศาสนาขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าสูญสลายไปจากโลกนี้ได้อย่างไร

พระในญี่ปุ่น พระสงฆ์ในศรีลังกา พระสงฆ์เกาหลี

อันว่าภัยภายนอกนั้นแม้จะร้ายแรงอย่างไรก็ตาม ถ้าภายในยังเข้มแข็งอยู่ ก็สามารถจะดำรงตนรักษาตัวไว้ได้ แต่ถ้าภายในก็อ่อนแอเสียแล้ว แม้แต่ไม่มีภัยภายนอก ก็ยังทำลายตัวเองหมดลงได้

ผู้เขียนจึงอยากชักชวนให้ผู้อ่านทุกท่านร่วมปกป้องเชิดชูพระพุทธศาสนา โดยการประพฤติปฏิบัติตัวเป็นอุบาสก อุบาสิกาที่แท้จริง คือ

มีศรัทธา ตั้งมั่นในคุณพระศรีรัตนตรัย ศรัทธาที่ชาวพุทธควรจะมีต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่หลงเชื่อสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผล แต่ต้องมีหลักในใจ ไม่ศรัทธายึดติดตัวบุคคลซึ่งมีผลเสีย คือ บุคคลนั้นกลายเป็นตัวกั้นเราไม่ให้เข้าถึงหลัก และ ถ้าบุคคลนั้นมีอันเป็นไปอย่างไร ศรัทธาของเราก็พลอยสิ้นสลายไปกับบุคคลนั้นด้วย และ ตัวหลักก็พลอยหล่นหายไป เพราะฉะนั้น ศรัทธาต่อบุคคลจะต้องให้เป็นเครื่องนำเข้าสู่ธรรม และ อิงอยู่กับธรรม เพื่อให้เราเข้าถึงธรรม และ อยู่กับธรรมด้วยปัญญาต่อไป

ศรัทธา

คุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกาข้อต่อไปคือ การมีศีลบริสุทธิ์ คือรักษาศีล 5 เป็นอย่างน้อยเป็นประจำ การรักษาศีล 5 เป็นการละเว้นการละเมิดต่อกัน การเบียดผู้อื่นและตนเอง และ เป็นฐานให้เกิดสมาธิ และ ปัญญาต่อไป

ถือศีล

อุบาสก อุบาสิกาต้องไม่ถือมงคลตื่นข่าว เรามีความเชื่อในกรรม ไม่เชื่อเรื่องมงคล คือ มุ่งหวังผลจากการกระทำ และ การงาน ไม่ใช่จากโชคลาง และ สิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์

หลักพระพุทธศาสนาสอนให้ถือหลักกรรม ถ้าจะเชื่ออะไรที่เป็นพิเศษออกไป สิ่งนั้นจะมาขัดขวางหลักกรรมไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นคนนั่งรอโชค ให้ใช้ปัญญาศึกษาเหตุปัจจัยแล้วแก้ไขที่เหตุปัจจัย ไม่ใช่การอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกต้องคือการทำความดีตามอย่างท่าน เช่น นับถือพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญคุณความดี ให้มีความเพียรอย่างยิ่งยวด คิดเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่เห็นแก่ตัว ให้เกิดกำลังใจโดยเฉพาะในยามท้อแท้ ไม่ใช่เห็นว่าพระโพธิสัตว์เสียสละช่วยเหลือเหล่าสัตว์มาก จึงไปอ้วนวอนขอให้ท่านช่วยเหลือเราบ้าง

พระโพธิสัตว์กวนอิม เห้งเจีย พระโพธิสัตว์มัญชุศรี

การมีฤทธิ์เป็นคนละเรื่องกับการหมดกิเลส ผู้มีฤทธิ์บางทีมีกิเลสมาก และ เอาฤทธิ์มาใช้สนองกิเลสของตน เช่น พระเทวทัตมีฤทธิ์มาก และ ใช้ฤทธิ์ในทางหาลาภสักการะ

ในปัจจุบันเรามักสับสนมากขึ้นในความเป็นพระอริยะกับความเป็นผู้วิเศษมาปะปนกัน ทำให้เข้าใจเนื้อหาของพระพุทธศาสนาผิดๆ เราต้องไม่หาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา ไม่ใช่หมายความว่าเราไปร่วมบุญกับศาสนาอื่นไม่ได้ แต่หมายถึงเราไม่ทำอะไรที่ขัดต่อหลักพระศาสนา เช่น ไม่หลงตามผู้ชักชวนให้ฆ่าสัตว์เป็นพลีกรรมเพื่อบูชาเทพเจ้า หวังให้เทพเจ้าช่วยเหลือในด้านใดด้านหนึ่งเป็นต้น

และ

เราต้องกระทำความสนับสนุนในพระศาสนาเป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจะอยู่รอดต่อไปได้ พุทธบริษัททั้ง 4 ต้องเกื้อหนุนแก่กันและกัน อุบาสก อุบาสิกา เกื้อต่อพระศาสนา พระศาสนาก็ช่วยเรา ตัวเรากับพระศาสนาก้าวหน้าไปด้วยกัน ก็เป็นความเจริญที่มั่นคง เพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตของเราเองและแก่สังคม

นอกจากนี้ยังมีธรรมอีกหมวดหนึ่ง ซึ่งว่าด้วยสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา เรียกอุบาสกธรรม 7 หรือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก อุบาสิกา ได้แก่

    • ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ เพราะพระภิกษุเป็นผู้สอนธรรมและเป็นเนื้อนาบุญแก่เราฆราวาส
      เยี่ยมพระภิกษุ
    • ไม่ละเลยการฟังธรรม การฟังธรรมให้ประโยชน์หลายประการ คือ ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้ สิ่งที่เคยได้ฟังก็ทำให้แจ่มแจ้งเข้าใจชัดเจนขึ้น แก้ข้อสงสัยได้ ทำความเห็นให้ถูกต้อง และเมื่อฟังธรรม จิตของเราก็ย่อมผ่องใส มีความสุข

      ฟังธรรม

    • ศึกษาในอธิศีล คือการรักษาศีลที่เคร่งครัดมากขึ้น เป็นศีลที่อยู่ในอริยมรรค เช่น นอกจากจะไม่พูดมุสาแล้ว ยังไม่พูดส่อเสียด ให้แตกแยก หยาบคายและเพ้อเจ้อ ไม่ประกอบอาชีพที่เบียดเบียนผู้อื่น ได้แก่ การค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า ค้ายาเสพติด สิ่งมึนเมา และ ยาพิษ เป็นต้น

    • มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย

    • ไม่ฟังธรรมด้วยตั้งใจจะคอยเพ่งโทษติเตียน

    • ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคำสอนนี้ และ กระทำความสนับสนุนในพุทธศาสนานี้เป็นเบื้องต้น

     

    ______________________________________________________________

    โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
    (aphivan@gmail.com)

    อ่านตอนอื่น

    แสดงความคิดเห็นที่นี่