นิทานธรรมกับ ดร.เอ๋ย ตอน 2
กลางเสียงน้ำตก
...ว่าด้วยการหาความสงบในจิตใจ


ครั้งหนึ่ง...

พระราชา

...ยังมีพระราชาองค์หนึ่งเสนอรางวัลให้แก่ผู้ที่วาดภาพความสงบได้ดีที่สุด มีศิลปินมากหน้าหลายตาส่งผลงานเข้าประกวด แต่มีเพียงสองภาพที่พระราชาพอพระทัย

ภาพแรกเป็นภาพทะเลสาบสงบนิ่ง น้ำใสสีเขียวราบเรียบสะท้อนภาพภูเขาที่รายรอบราวกับเป็นกระจก เบื้องบนมีท้องฟ้าสีคราม มีปุยเมฆขาวแต่งแต้ม ใครก็ตามที่เป็นภาพนี้ก็อดทึ่งไม่ได้ว่ามันเป็นภาพของความสงบที่สมบูรณ์โดยแท้

ทะเลสาป

ภาพที่สองเป็นภาพของภูเขาเช่นกัน แต่เป็นเขาหัวโล้นปราศต้นไม้ใดๆ ท้องฟ้าดูทะมึนราวจะมีพายุฝนกระหน่ำในไม่ช้า ข้างภูเขามีน้ำตกไหลกระแทกโขดหินเป็นฟองขาว ดูไม่มีความสงบเลยสักนิดเดียว แต่พระราชาก็นั่งพิจารณา ณ เบื้องหลังน้ำตก ทรงเห็นพุ่มไม้เล็กๆ ขึ้นอยู่ในรอยแยกของโขดหิน ในพุ่มไม้นั้นมีแม่นกสร้างรังเล็กๆพอตัว และท่านกลางความอึกทึกครึกโครมของเสียงน้ำตก แม่นกนั่งอยู่ในรังของมันอย่างสงบนิ่ง

ภูเขา

คุณคิดว่าภาพไหนจะได้รางวัล?

พระราชาทรงเลือกภาพที่สอง “เพราะว่า ความสงบไม่ได้หมายถึงสถานที่ที่ปราศจากเสียงอันดัง หรือปัญหา หรืองานหนัก ความสงบหมายถึงการอยู่ได้ท่ามกลางสิ่งเปล่านี้ แต่ยังไม่หวั่นไหวในหัวใจ นั่นคือความหมายที่แท้จริงของความสงบ”

ผู้เขียนเคยทำงานเป็นผู้บริหาร มีห้องทำงานส่วนตัวใหญ่โต ถ้าไม่ติดประชุม หรือไปพบลูกค้า วันๆก็ใช้เวลานั่งอยู่หลังโต๊ะเซ็นต์เอกสารบ้าง วางแผนงานบ้าง วิเคราะห์ผลงานบ้าง เมื่อมีใครต้องการพบ เลขาก็จะเคาะประตูเบาๆ ขออนุญาตเข้ามารบกวน

ห้องทำงานส่วนตัว

จนกระทั่งวันหนึ่ง ลาออกไปอยู่กับอีกบริษัทหนึ่ง ที่นี่จัดรูปแบบของสำนักงานแบบเปิด คือไม่มีผนังกั้นห้อง

ห้องทำงานรวม

ทุกคนนั่งทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ซีอีโอลงมา ทุกคนมองเห็นกันและกัน แต่ที่เลวร้ายคือได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวก สับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในชั้นนั้น อารมณ์แรกที่ผู้เขียนประสบคือ ความพลุ่งพล่านในจิตใจ

การทำลายกำแพงที่กั้นห้องทำงานก็เป็นเหมือนการทำลายกำแพงของทิฎฐิมานะ ความถือมั่นในหัวโขนที่เขาอุปโลกน์ให้ ขณะที่อัตตายังเรียกร้องสิ่งสมมุติอันแสดงถึงฐานะอันยิ่งใหญ่ เสียงของพนักงานข้างโต๊ะจึงเป็นอะไรที่ทนไม่ได้ ต้องหงุดหงิดไปเป็นสัปดาห์กว่าจะคุ้นชินและเริ่มมีสมาธิในการทำงาน ณ วันนี้ เมื่อนึกย้อนกลับ จึงรู้ว่า เราได้คาดหวังว่าเราต้องได้ความสงบจากภายนอก จากบรรยากาศรอบข้าง จึงจะพอใจได้สมาธิ

แต่ที่จริงแล้วสมาธิต่างหากที่สร้างความสงบในใจ และเมื่อเรามีความสงบเกิดขึ้นในใจแล้ว ไม่ว่าอะไรภายนอกจะมากระทบ มันก็ไม่สามารถกระเทือนให้อารมณ์เราบูดได้

ความสงบคืออะไร ความสงบนั้นหมายถึง ความไม่วุ่นวาย ไม่ดิ้นรน เป็นความราบรื่น เย็นใจ ไม่เร่าร้อน หรือถูกกดดัน เป็นความสุขที่ลุ่มลึกเย็น หาความสุขใดเทียบได้ยาก
ความสงบ

แม้พระพุทธองค์เองท่านยังสรรเสริญ ความสุขที่เกิดจากความสงบว่าเป็นสุดยอดแห่งความสุข ความสงบแยกออกได้เป็น ๓ อย่าง คือ กายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือก็ความสงบทางกาย  ความสงบจิตใจ และความสงบทางด้านจิตวิญญาณ

กายวิเวก หรือความสงบกาย เป็นความสงบขั้นแรกที่หยาบที่สุด เกิดจากสภาวะของร่างกายและสิ่งแวดล้อมที่สงบ เช่นพักอยู่ที่บ้าน หรือหนีความวุ่นวายไปเที่ยวตามธรรมชาติ ป่าเขา ลำเนาไพรซึ่งเป็นที่สงบร่มเย็น แต่ตราบใดที่เรายังต้องทำงานยังชีพตัวเองและครอบครัว และไม่ได้บวชเป็นภิกษุสงฆ์หรือชี เราก็ต้องอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมกันต่อไป อย่างเช่นกล่าวว่าคนเราเกิดมาในเมืองมนุษย์ต้องพบมนุษย์อยู่ร่ำไป พระพุทธเจ้าสอนให้อยู่ด้วยความสงบวิเวกด้วยใจ

ถ้าใจสงบแล้วอยู่ในบ้านก็สงบ อยู่ในวัดก็สงบ อยู่ในป่าเขาก็สงบ อยู่ในที่ทำงานก็สงบ เราสงบคนเดียวเท่านั้นแหล่ะ สิ่งอื่นๆทั้งหมดในโลกนี้มันจะวุ่นวายสักเท่าไหร่ เรื่องคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่น แต่ถ้าใจของเราไม่สงบ ไปยึดเอาเรื่องของคนอื่นมาไว้เป็นอารมณ์ของใจ จะอยู่ในป่าคนเดียวมันก็ไม่สงบอยู่ดี

ความสงบ2

ดังนั้นเราต้องรู้ว่าความสงบมันอยู่ที่ใจของเรานั่นเอง เราต้องหาต้นตอให้เจอ อุปมาอุปมัยว่า มีคนเอาก้อนอิฐปาสุนัข สุนัขจะวิ่งไปงับก้อนอิฐทันทีด้วยความโกรธ แต่ถ้าเอาก้อนอิฐปาราชสีห์ ราชสีห์จะหันมามองว่าใครเป็นผู้ทำ แล้วจะจัดการกับคนที่มาทำร้ายมัน ถ้าความไม่สงบมีสาเหตุจากใจของเรา

ราชสีห์

เราจะแก้ไขอย่างสุนัขในเรื่องนี้ที่คอยไล่งับสิ่งที่มารบกวนจากภายนอก หรือแก้ไขอย่างราชสีห์คือแก้ที่ตัวต้นเหตุ ทุกอย่างเกิดขึ้นที่ใจทั้งนั้น ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ คำว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ” อาจไม่ได้อยู่ที่สถานที่ แต่อยู่ที่ใจของเรานี่เอง

ความไม่สงบเกิดขึ้นเพราะเราต้องการเปลี่ยนผู้อื่น หรือบรรยากาศรอบตัว แต่มันเป็นความจริงที่ว่า คนอื่นจะไม่เปลี่ยน จนกว่าเราจะเปลี่ยนตัวเองเสียก่อน ดังเรื่องบ้านกระจกหนึ่งพันบาน ดังต่อไปนี้

สุนัข

นานมาแล้ว ในหมู่บ้านเล็กๆที่ห่างไกล มีสถานที่หนึ่งเรียกว่าบ้านกระจกหนึ่งพันบาน มีสุนัขตัวเล็กๆตัวหนึ่งอยากไปเยี่ยมชม เมื่อมันไปถึง มันก็กระโดดขึ้นบันไดไปที่ประตูบ้านด้วยหูที่ตั้งชันและกระดิกหางอย่างมีความสุข มันแปลกใจที่เป็นสุนัข 1000 ตัวภายในบ้านที่กระดิกหางอย่างมีความสุขเหมือนกับมัน มันยิ้มให้ และสุนัขทั้งพันตัวก็ยิ้มตอบอย่างอบอุ่นและเป็นมิตร มันเดินจากไปพร้อมกับคิดว่า “ที่นี่ช่างเป็นสถานทีที่วิเศษเสียนี่กระไร ฉันจะกลับมาเยี่ยมบ่อยๆ”

ในหมู่บ้านเดียวกัน มีสุนัขอีกตัว มันไม่ค่อยมีความสุขเท่าสุนัขตัวแรก มันแวะเข้าไปเยี่ยมบ้านกระจกพันบานเช่นกัน มันก้มหน้างุดๆค่อยๆไต่บันไดขึ้นไปอย่างหงอยเหงา มันเห็นสุนัขท่าทางไม่เป็นมิตร 1000 ตัวมองกลับมา มันคำรามใส่ และรู้สึกตกใจกลัวเมื่อสุนัขทั้งหนึ่งพันตัวคำรามกลับมา มันวิ่งหนีและคิดว่า “ที่นี่ช่างเป็นสถานที่ที่น่ากลัวเสียนี่กระไร ฉันจะไม่กลับมาอีกแล้ว”

ภาพที่สุนัขทั้งสองเห็นคือเงาในกระจก เราลองกลับมาถามตัวเองดูซิว่า เราเห็นภาพอะไรที่สะท้อนออกจากใบหน้าของผู้คนที่เราพบเห็น?

ดังนั้น ก่อนที่เราจะพยายามเปลี่ยนโลกทั้งใบ เราเพียงแค่เปลี่ยนทัศนคติของเราที่มีต่อโลกจะง่ายกว่า

ความสงบอย่างที่สามคือ อุปธิวิเวกหรือความสงบทางจิตวิญญาณ คือความสงบที่ละเอียดลึกซึ้ง เกิดจากการฝึกจิตจนไม่หวั่นไหวกับสิ่งภายนอก ขอยกนิทานเซนหนึ่งเรื่องเป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจน

พระสงฆ์

เมื่อข้าศึกรุกเข้ามาได้ถึงตัวเมืองพระสงฆ์ในวัดก็หนีเข้าป่าไปหมด เหลือแต่เจ้าอาวาสองค์เดียว เมื่อแม่ทัพมาถึงวัด ก็รู้สึกขัดเคืองที่เจ้าอาวาสไม่แสดงอาการหวาดกลัว เขาตวาดว่า

“ท่านไม่รู้หรือว่า กำลังเผชิญหน้ากับผู้ที่สามารถฟันท่านขาดสองท่อนได้โดยไม่ต้องกระพริบตา”

เจ้าอาวาสตอบอย่างสงบว่า

“และท่านกำลังเผชิญหน้ากับผู้ที่สามารถถูกฟันขาดสองท่อนได้โดยไม่ต้องกระพริบตา” 

แม่ทัพจ้องดูเจ้าอาวาส ทำความเคารพ และกลับออกไปอย่างสงบ

ความสงบทางจิตวิญญาณ เป็นความสงบที่ปราศจากความกลัวใดๆ ปราศจากการมีอัตตา การสงบทางจิตวิญญาณจะเกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนจิตจนเกิดปัญญาเห็นแจ้งในไตรลักษณ์

พระพุทธเจ้าแนะอุบายทำให้จิตสงบ หรือกถาวัตถุ ๑๐ ประการ ดังนี้

  1. มักน้อย  เมื่อมักน้อยแล้วจิตจะนิ่งง่าย  เพราะสิ่งกระทบใจให้เกิดความโลภ  โกรธ  หลงลดน้อยลง 
  2. สันโดษ  หากต้องการให้จิตสงบต้องสันโดษ  คือ  รู้จักพอใจในสิ่งที่ตนเป็น  ตนมี  ตนได้รับ  แล้วจิตจะสงบ  มีความสุข  ไม่ว้าวุ่น และไม่ดิ้นรน
  3. ความสงัด  พยายามหาโอกาสอยู่ในที่ที่สงบเงียบ สงัดกายสงัดใจ  เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติ  แล้วจะทำให้จิตสงบได้ง่ายขึ้น
  4.  ปลีกตัวออกจากหมู่คณะ  หากต้องการประพฤติปฏิบัติธรรมให้ได้มรรคผลก้าวหน้าจึงต้องพยายามปลีกตัวอยู่ห่างจากหมู่คณะ  เพื่อจะได้ไม่ต้องพูดคุยและทำในเรื่องที่ไร้สาระ  กระตุ้นให้เกิดกิเลสตัณหาที่จะทำให้ จิตสงบยาก
  5. ความเพียร  หากต้องการให้จิตสงบเพื่อความก้าวหน้าในมรรคผล ต้องเจริญความเพียรให้มาก เพราะความเพียรเป็นตัวการสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จทุกประเภท
  6. ศีล   ศีลเป็นพื้นฐานของความสงบนิ่งของกายและใจและเป็นปกติของจิต
  7. สมาธิ  เพื่อให้จิตสงบนิ่ง และนำสมาธิไปใช้ให้เกิดประโยชน์และเกื้อกูลต่อการประพฤติปฏิบัติ 
  8. ปัญญา  เมื่อเกิดสมาธิขึ้นแล้วต้องรู้จักนำปัญญาที่เกิดจากสมาธิมาพิจารณาสิ่งกระทบจนปัญญาญาณเห็นแจ้งเกิด  เพื่อให้จิตปล่อยวางสิ่งที่เป็นอนัตตา  ไม่มีตัวตน  และสงบนิ่งอย่างแท้จริงด้วยอุเบกขา
  9. ความหลุดพ้น  เมื่อปฏิบัติแล้วต้องโยนิโสมนสิการจนกระทั่งจิตสามารถเห็นแจ้งถึงความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  และเป็นอนัตตาของสรรพสิ่ง  แล้วความหลุดพ้นจากสิ่งเศร้าหมองคือ กิเลสใหญ่ทั้ง 3  ตัว คือ  โลภ  โกรธ  หลง  จึงจะเกิด  และสามารถนำจิตพ้นไปจากกิเลสที่เหลือได้
  10. ความรู้ความเห็นว่าหลุดพ้น  โดยการพิสูจน์ด้วยการประพฤติปฏิบัติจนเห็นจริงด้วยตัวเอง

        อุบายทั้ง  10  นี้จึงเป็นสิ่งที่เราควรจะนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อสร้างความสงบให้เกิดขึ้นแก่ใจ  ไม่ต้องหาความสงบนอกกายอีกต่อไป

พระพุทธเจ้า ฯ

______________________________________________________________

โดย ดร.อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์
(aphivan@gmail.com)

อ่านตอนอื่น

แสดงความคิดเห็นที่นี่